โรคหมอนรองกระดูกเสื่อม
โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม แบ่งสาเหตุออกเป็น 2 ประเด็นหลัก คือ
ประเด็นแรกจากตัวผู้ป่วยเอง ซึ่งได้แก่
- อายุ เป็นประเด็นหลัก ที่จะทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมได้ง่าย จะเริ่มเสื่อมเมื่ออายุ 25 ปีขึ้นไป อายุเพิ่มมากขึ้น ก็จะทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมมากขึ้นเรื่อย ๆ
- น้ำหนัก ผู้ป่วยที่รูปร่างใหญ่ น้ำหนักมาก หมอนรองกระดูกสันหลังต้องรับน้ำหนักค่อนข้างมาก ความเสื่อมก็จะเกิดขึ้นเร็ว ประเด็นที่สองจากกิจกรรม ซึ่งได้แก่
- กิจกรรม เวลาที่ผู้ป่วยก้ม ๆ เงย ๆ ยกของหนัก ก็จะทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมได้โดยง่าย หรือผู้ที่ต้องนั่งนาน ๆ ขับรถทางไกลมาก ๆ ก็จะทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมได้ง่ายเช่นกัน
- อุบัติเหตุ ผู้ที่เคยมีอุบัติเหตุ จะเป็นเหตุให้กระดูกสันหลังเสื่อม ได้เร็วกว่าคนทั่วไป สัญญาณเตือนเบื้องต้น ของโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม จะเริ่มจากอาการปวดหลัง พอเป็นมากขึ้นก็จะปวดไปยังบริเวณสะโพก เนื่องจากหมอนรองกระดูกสันหลัง อยู่ใกล้ส่วนที่เป็นเส้นประสาท จะส่งผลให้บางครั้งอาจมีอาการชา บริเวณขา มีอาการอ่อนแรงได้บ้างเล็กน้อย แต่ในกรณีที่มีเหตุ ที่ทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังปลิ้นออกมา ไปกดส่วนที่เป็นเส้นประสาท จะทำให้เกิดอาการปวดมาก บางรายถึงขนาดเดินตัวเอียง บางรายปวดรุนแรง เดินไม่ไหว ปวดร้าวไปที่ขา มีอาการชา อ่อนแรงที่บริเวณขา และสิ่งที่สำคัญก็คือ เกี่ยวกับเรื่องปัสสาวะ และอุจจาระ แนะนำว่าถ้ามีอาการผิดปกติให้รีบมาโรงพยาบาลทันที
ในการวินิจฉัยแพทย์ จะซักประวัติ ถึงอาการปวดหลัง อาการปวดร้าวลงขา ระบบทางเดินปัสสาวะ และอุจจาระ ว่าผิดปกติหรือไม่ และจะทำการตรวจร่างกายเพื่อวินิจฉัย ว่ามีแนวโน้มที่จะเป็นโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม หรือไม่ และทำการตรวจเอกซเรย์ เพื่อดูแนวกระดูกสันหลัง ในปัจจุบันมีเทคโนโลยี ที่ทำให้การวินิจฉัยหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม แม่นยำมากขึ้น ด้วยการทำ MRI ซึ่งการทำ MRI จะบอกได้ว่ามีความรุนแรงมาก น้อยแค่ไหน
ส่วนการรักษา โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า สามารถหายได้โดยไม่ต้องผ่าตัด ในเบื้องต้นจะให้ทานยา และทำกายภาพบำบัด ในคนที่มีการปวดร้าวลงขา อาจใช้การฉีดยา ลดการปวดตามเส้นประสาท ทำให้อาการดีขึ้น และใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ในบางกรณีที่มีอาการรุนแรง มีข้อบ่งชี้สำหรับการผ่าตัด อาจใช้เทคนิคในการผ่าตัดต่าง ๆ ซึ่งในปัจจุบันมีมากมาย ที่จะมาช่วยในการผ่าตัด เพื่อให้ผลการรักษามีประสิทธิภาพดียิ่ง ๆ ขึ้นไป
อย่างไรก็ตาม การป้องกันสำคัญที่สุด การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม มีความสำคัญมาก หลีกเลี่ยงการยกของหนัก ไม่ควรจะนั่งนาน ไม่ขับรถทางไกล เพื่อให้หมอนรองกระดูกสันหลังอยู่คู่กับเราไปนาน ๆ
บทความโดย ผศ.นพ.มนต์ชัย เรืองชัยนิคม ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด
คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล